หน้าเว็บ

กระบวนการบังคับคดี

 EXECUTION PROCEEDING

                    เมื่อศาลมีคำพิพากษาและได้ส่งคำบังคับให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำบังคับ โจทก์จะต้องดำเนินการออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินของจำเลย โดยเมื่อหมายบังคับคดีถูกส่งไปยังกรมบังคับคดี โจทก์มีหน้าที่จะต้องไปตั้งเรื่องต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดีแบ่งเป็น การยึดและการอายัด

        - การยึด ได้แก่ ยึดที่ดิน, บ้าน, อาคาร, รถยนต์, หุ้น, สังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

        - การอายัด ได้แก่ อายัดเงินฝากธนาคาร, เงินเดือน (กรณีเอกชน, รัฐวิสาหกิจ) สิทธิเรียกร้องจากบุคคลภายนอก


 หลักฐานที่ต้องยื่นต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในการตั้งเรื่อง
        1. หนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์ (ใช้แบบฟอร์มของกรมบังคับคดี)

        2. บัตรประชาชน, หนังสือรับรองบริษัทของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีโจทก์เป็นบริษัท)

        3. หลักฐานแสดงสถานะของจำเลย, หนังสือรับรองบริษัท, หนังสือทะเบียนราษฎร

        4. หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ของจำเลย เช่น โฉนดที่ดิน, สัญญาซื้อขาย, สัญญาจำนอง, หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด, ทะเบียนบ้าน, คู่มือการจดทะเบียนรถยนต์, ใบหุ้น และอื่น ๆ

        5. กรณีอายัดเงินฝากธนาคาร เช่น เลขบัญชีธนาคาร, ประเภทบัญชี, ชื่อธนาคาร, อายัดเงินเดือน เช่น ชื่อสถานที่ทำงาน, อัตราเงินเดือน, จำนวนเงินที่ขออายัด, อายัดสิทธิเรียกร้อง เช่น สัญญาเช่า, สิทธิการเช่า, สิทธิเก็บกิน, ค่าชดเชย, ค่าทดแทนโดยการขออายัดจะต้องมีข้อมูลและเอกสารเพียงพอที่จะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกหมายให้ถูกต้องครบถ้วน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะต้องสืบหาให้พร้อมเสียก่อนจึงจะดำเนินการได้

        6. ค่าธรรมเนียมการยึดและการอายัด อย่างละ 600 บาท

        7. ระยะเวลาการยึดเมื่อตั้งเรื่องในวันใด และมีหลักฐานครบถ้วน ในวันรุ่งขึ้นสามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ได้ทันที

        8. ระยะเวลาการอายัดจะใช้เวลาในการพิมพ์หมายอายัด 2 วันทำการ รวมทั้งการตรวจสอบหลักฐานด้วย เมื่อหมายอายัดพิมพ์เสร็จโจทก์สามารถนำส่งได้เอง หรือจะให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำส่งบุคคลภายนอกก็ได้
การยึดทรัพย์อสังหาริมทรัพย์
                โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยงงงในกรณีที่เป็นอสังหาริมทรัพย์งง โดยจะต้องส่งหลักฐานเพิ่มเติมในวันยึด คือ

        1. สำเนาทะเบียนบ้านของจำเลย หรือหนังสือรับรองนิติบุคคล ซึ่งจะต้องรับรองไว้ไม่เกิน 1 เดือน

        2. แผนที่การเดินทางไปยังที่ตั้งของทรัพย์ที่ยึด

        3. ภาพถ่ายปัจจุบันของทรัพย์ที่ยึด

        4. ราคาประเมินที่ดิน, ห้องชุด ที่เจ้าพนักงานรับรอง

        5. ค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาด 2,000 บาท

        6. รายชื่อเจ้าของที่ดินข้างเดียว 4 ทิศ ในกรณีทรัพย์สินอยู่ในเขตอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีกรุงเทพมหานคร การยึดทรัพย์ใช้เวลา 1 วันทำการ

                    แต่ถ้าทรัพย์สินอยู่ในเขตต่างจังหวัดจะต้องให้เจ้าพนักงานบังคับคดีออกหนังสือบังคับคดีแทนไปยังเขตอำนาจของเจ้าพนักงานบังคับคดีในจังหวัดนั้น ๆ โดยจะต้องไม่ตั้งเรื่องใหม่ เสียค่าธรรมเนียม 600 บาท แล้วจึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สิน


กระบวนการหลังจากยึดอสังหาริมทรัพย์
        1. เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสืออายัดไปยังสำนักงานที่ดิน

        2. ส่งหมายแจ้งจำเลย

        3. ส่งหมายสอบถามราคาประเมินไปยังสำนักงานประเมินทรัพย์สินกลาง

        4. ส่งหมายแจ้งผู้รับจำนองเพื่อให้ส่งโฉนดมาใช้ในการขายทอดตลาด

        5. ขออนุญาตศาลเพื่อขายทอดตลาด

        6. พิมพ์หมายประกาศขายทอดตลาด

        7. ขายทอดตลาด

        ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน


การขายทอดตลาดทรัพย์สิน
        ในการขายทอดตลาดทรัพย์สิน เจ้าพนักงานบังคับคดีจะส่งหมายแจ้งให้โจทก์, จำเลย, ผู้รับจำนอง ได้ทราบรายละเอียดของทรัพย์สินที่จะขายในวันขายทอดตลาด นอกจากนี้ยังแจ้งสมาชิกวารสารการขายทอดตลาดให้ทราบด้วย แต่ก็ยังอยู่ในวงจำกัด หากผู้สนใจยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ จะต้องค้นหาเอาเองจากกรมบังคับคดี และจะต้องประกาศโฆษณาเอาเอง รวมถึงเสียค่าใช้จ่ายเองในการลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ผู้สนใจเข้ามาประมูลซื้อ เนื่องจากการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดีเป็นเพียงกระบวนการจำหน่ายทรัพย์สินตามกฎหมาย ไม่ใช่วิธีการทางการตลาดหรือธุรกิจ

        นอกจากนี้ ทรัพย์สินที่ยึดมาส่วนใหญ่มีภาระติดพัน เช่น มีการจดทะเบียนจำนองและค้างชำระเงินต้นและดอกเบี้ย อีกทั้งผู้เข้าประมูลจะต้องวางเงินมัดจำร้อยละ 25 ของราคาซื้อ และทำสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขในการชำระราคา ส่วนที่เหลือผู้ซื้อจะต้องชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันซื้อทรัพย์ ดังนั้นผู้ซื้อทรัพย์สินจากการขายทอดตลาดจึงมีจำนวนไม่มากในวันขายทอดตลาด โจทก์จึงต้องหาผู้ซื้อให้ได้ก่อนวันขายทอดตลาด ซึ่งการขายทอดตลาดมีกำหนด 2 ครั้ง ห่างกันครั้งละ 1 เดือน

        ในกรณีเมื่อถึงกำหนดวันขายทอดตลาดหากไม่มีผู้มาประมูลทรัพย์สิน การขายทอดตลาดจะถูกเลื่อนออกไปขายในครั้งที่ 2 และหากครั้งที่สองยังขายไม่ได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจะถามความประสงค์ว่าจะดำเนินการขายทอดตลาดต่อไปหรือไม่ หากยังคงประสงค์จะดำเนินการต่อไป ต้องวางเงินค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดจำนวน 2,000 บาท ส่วนวันนัดขายครั้งต่อไปเจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีหมายแจ้งให้ทราบในภายหลัง

        หากโจทก์ประสงค์จะระงับการขายไว้ก่อน หรือขอเวลาหาผู้ซื้อ หรือลงโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ โจทก์สามารถยื่นคำแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ โดยมีระยะเวลาตั้งแต่ 3-6 เดือนหรือ 1 ปีก็ได้ เมื่อครบกำหนดแล้วให้โจทก์แถลงความประสงค์ใหม่อีกครั้งหนึ่งว่าจะขายทอดตลาดต่อไป หรือจะงดการบังคับคดีไว้ก่อน

        การบังคับคดีโจทก์มีสิทธิที่จะบังคับคดีจำเลยได้ 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนกระบวนการขายทอดตลาดจะขายหลังจาก 10 ปีก็ไม่เป็นไร เพราะเป็นเพียงวิธีการเท่านั้น อย่างไรก็ตามระยะเวลาอันยาวนานเมื่อจำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดอีกต่อไปแล้ว โจทก์อาจจะไม่ต้องการให้มีคดีเป็นภาระต่อโจทก์ จึงยังมีกระบวนการที่จะสามารถดำเนินการได้คือ การถอนการบังคับคด

การถอนการบังคับคดี
        มาตรา 295 และ 295 ทวิ บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีในกรณีต่อไปนี้

        1. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินหรือหาประกัน

        2. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสละสิทธิในการบังคับคดี

        3. คำพิพากษาถูกกลับหรือหมายบังคับคดีถูกยกเลิก

        4. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดี


        1. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาวางเงินหรือหาประกัน

        มาตรา 295 (1) เจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดี หรือถอนโดยคำสั่งศาลแล้วแต่กรณี เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้วางเงินต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี เป็นจำนวนพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา พร้อมทั้งค่าฤชาธรรมเนียมแห่งคดีหรือค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีหรือหาประกันมาให้จนเป็นที่พอใจของศาล สำหรับจำนวนเงินที่จะต้องชำระ เพราะความมุ่งหมายในการบังคับคดีก็เพื่อบังคับเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษานำเงินมาวางจนครบถ้วน หรือหาประกันมาจนเป็นที่พอใจของศาลและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว การดำเนินการบังคับคดีต่อไปก็หมดความจำเป็น

        2. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาสละสิทธิในการบังคับคดี

        มาตรา 295 (2) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้แจ้งไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นหนังสือว่าตนสละสิทธิในการบังคับคดี เพราะการบังคับคดีเป็นเรื่องของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา หากไม่ประสงค์จะบังคับคดีก็เป็นสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

        3. คำพิพากษาถูกกลับหรือหมายบังคับคดีถูกยกเลิก

        มาตรา 295 (3) ถ้าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีได้ถูกกลับในชั้นที่สุด หรือหมายบังคับคดีได้ถูกยกเลิกเสีย เมื่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีได้ส่งคำสั่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่ถ้าคำพิพากษาในระหว่างบังคับคดีนั้นได้ถูกกลับเพียงบางส่วน การบังคับคดีอาจดำเนินอยู่ต่อไปจนกว่าเงินที่รวบรวมได้นั้นจะพอชำระแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

        4. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดี

        มาตรา 295 ทวิ บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลสั่งถอนการบังคับคดีนั้นเสีย” มาตรา 295 ทวิ เป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ เหตุที่ต้องบัญญัติเช่นนี้ เนื่องจากเดิมในกรณีเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ไม่มีบทบัญญัติให้ถอนการบังคับคดี แม้กรณีเช่นนี้จะเข้าหลักเกณฑ์การงดการบังคับคดีตามมาตรา 292 แต่การงดการบังคับคดีไม่ทำให้เรื่องเสร็จสิ้นไป และจะถอนการบังคับคดีตามมาตรา 295 ก็ไม่ได้ การบังคับคดีจึงตกค้างอยู่ เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถปิดสำนวนการบังคับคดีได้ มาตรา 295 ทวิ จึงเป็นบทบัญญัติเพิ่มเติมเพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขอให้ศาลสั่งถอนการบังคับคดี ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดี

                 ค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณีถอนการบังคับคดี
        มาตรา 295 ตรี บัญญัติว่า ในกรณีที่มีการยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงิน หรือในกรณียึดหรืออายัดเงิน หรืออายัดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย เนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีถอนการบังคับคดีนั้นเองหรือถอนโดยคำสั่งศาล และผู้ขอให้ยึดหรืออายัดไม่ชำระค่าธรรมเนียม เจ้าพนักงานบังคับคดี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีขอหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าธรรมเนียม ในกรณีเช่นว่านี้ ให้ถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมนั้น และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีได้เอง โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมทั้งปวงเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีนั่นเอง หรือถอดถอนโดยคำสั่งศาล ผู้ขอให้ยึดหรืออายัดมีหน้าที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีตามกฎหมาย ถ้าผู้ขอให้ยึดหรืออายัดนั้นไม่ชำระค่าธรรมเนียมแก่เจ้าพนักงานบังคับคดี มาตรา 295 ตรี ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของผู้นั้นเพื่อชำระค่าธรรมเนียม โดยถือว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในส่วนที่เกี่ยวกับค่าธรรมเนียมนั้น และได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมด้วย

        การถอนการบังคับคดี ผู้ถอนจะต้องวางค่าธรรมเนียมร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์ที่ยึด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในทางปฏิบัติเมื่อยึดทรัพย์สินของจำเลยแล้วไม่ควรเพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดี ควรจะดำเนินการวางค่าใช้จ่ายการขายทอดตลาดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จำนวน 2,000 บาท ซึ่งสามารถขายทอดตลาดได้ 2 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 1 เดือน โดยจะทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ร้องต่อศาลขอให้ถอนการบังคับคดี และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมการถอนร้อยละ 3.5 โดยใช่เหตุ

        ในทางปฏิบัติ เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะไม่ขอถอนการบังคับคดีจนกว่าจะได้รับชำระหนี้จากจำเลยจนครบถ้วน จำเลยก็ไม่สามารถนำทรัพย์ออกจำหน่าย จ่าย โอน ได้ เนื่องจากถูกอายัดไว้โดยหมายบังคับคดี ค่าธรรมเนียมการถอนเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะไม่เป็นผู้วาง แต่จะให้จำเลยเป็นผู้วาง

ลำดับความนิยม

คำที่ค้นหา

กฏหมายที่ดิน (1) กระบวนการบังคับคดี (1) การจัดบ้านให้น่าอยู่ในพื้นที่กะทัดรัด (1) การต่อเติมบ้านและกฎหมายที่ควรรู้ (1) การยื่นคำขอจดทะเบียนอาคารชุด (1) คลองเตย (1) คลองสาน (1) คลองสามวา (1) คอนโด (1) คันนายาว (1) โฆษณา (1) จตุจักร (1) จอมทอง (1) ช็อปมายพร็อพเพอร์ตี้ (1) ดอนเมือง (1) ดินแดง (1) ดุสิต (1) ตลิ่งชัน (1) ทวีวัฒนา (1) ทาวน์เฮาส์ (1) ที่ดิน (1) ทุ่งครุ (1) ธนบุรี (1) นิติบุคลหมู่บ้านสิ่งจำเป็นที่ต้องมี (1) บทความ (8) บางกอกน้อย (1) บางกอกใหญ่ (1) บางกะปิ (1) บางขุนเทียน (1) บางเขน (1) บางคอแหลม (1) บางแค (1) บางซื่อ (1) บางนา (1) บางบอน (1) บางพลัด (2) บางรัก (1) บ้านเดี่ยว (1) บึงกุ่ม (1) ปทุมวัน (1) ประมวลกฏหมายที่ดิน (1) ประเวศ (1) ป้อมปราบศัตรูพ่าย (1) แผนบริการ (1) พญาไท (1) พระโขนง (1) พระนคร (1) ภาษีเจริญ (1) มีนบุรี (1) ยานนาวา (1) ยินดีต้อนรับ (1) ราชเทวี (1) ราษฎร์บูรณะ (1) ลาดกระบัง (1) ลาดพร้าว (1) วัฒนา (1) วิถีขงจื๊อสู่ความเป็นเลิศ (1) วิธีลงชื่อเข้าใช้และเขียนบทความ (1) สวนหลวง (1) สะพานสูง (1) สัมพันธวงศ์ (1) สาทร (1) สายไหม (1) หนองแขม (1) หนองจอก (1) หลักสี่ (1) ห้วยขวาง (1) อพาร์ทเมนท์ (1) อำนาจหน้าที่ของเจ้าของร่วม (1) shopmyproperty (2)